• Home
  • About Norakaa

Norakaa.com

เขียนไปเรื่อย

game

ทายโจ๊กกันเถอะ

October 25, 2012 by norakaa

พยายามหาโอกาสพูดเรื่องการทายโจ๊กมานานละ คือแบบ เล่นตั้งแต่เด็ก ที่โรงเรียนก็สนับสนุนให้เล่น แล้วมันก็สนุกมากด้วย ได้ใช้ทั้งความคิด ฝึกทักษะภาษา แล้วก็ได้รางวัล 😀

ปกติแล้วทายโจ๊กจะอยู่ตามเทศกาลต่างๆ เช่นงานบุญกลางบ้าน หรือในโรงเรียนพนัสพิทยาคาร(โรงเรียนผมเองตอนเด็กๆ) จะมีให้ทายโจ๊กกันในวันกิจกรรมของโรงเรียน ไม่ก็วันภาษาไทย ซึ่งคนจัดก็จะเตรียมของรางวัลพวก ขนม ของเล่น ของใช้เล็กๆน้อยๆ ฯลฯ มาแจกให้กับคนที่ทายได้ ลองดูภาพบรรยากาศการทายโจ๊กดูนะ (ภาพจากเว็บ http://kanchanapisek.or.th)

คือเขาจะเอาโจ๊กมาห้อยๆไว้บนกระดาน หรือลวดที่ขึงไว้ แล้วก็คนเล่นก็จะนั่งเก้าอี้เป็นแถวๆ คิดคำตอบ โดยที่กรรมการที่เรียกว่า “นายโจ๊ก” จะมีอุปกรณ์คือ กริ่ง เอาไว้กดเวลาตอบถูก กับ กลอง เอาไว้กดเวลาตอบผิด เวลาจะตอบต้องขานชื่อของโจ๊กก่อนเสมอ เพื่อให้นายโจ๊กเข้าไปชี้ได้ถูก (พอชี้ปั๊บ ทุกคนก็จะจ้องมาที่โจ๊กนั้นเป็นสายตาเดียวกัน ซึ่งแม่งกดดันมาก -__-) โดยด้านบนของกระดาษโจ๊ก จะเขียนชื่อของโจ๊กไว้พร้อมกับตัวเลข ซึ่งจะบ่งบอกว่าคนที่คิดโจ๊กนั้นคือใคร ชื่อของคนคิดโจ๊กก็คล้ายๆนามปากกานี่แหละ เช่น บรรพต 215, ถวิล 34 ฯลฯ

โจ๊กจะมีสองชนิด คือโจ๊กอักษร กับ โจ๊กภาพ ลักษณะของโจ๊กภาพจะคล้ายๆกับเกมในเวทีทองสมัยก่อน คือมีภาพมาภาพนึงแล้วก็ให้ทายว่าภาพนั้นหมายถึงอะไร บางทีก็จะมีคำสั่งอื่นๆ หรือคำใบ้เขียนไว้ด้วย เช่น ถ้าเขียนคำว่า “ผวน” หมายถึงคำตอบที่ได้จากภาพต้องเอามาผวนก่อนถึงจะได้คำตอบที่แท้จริง หรือไม่ก็จะมีคำสั่งอื่นๆอีก เช่นอันนี้ (เผอิญหาตัวอย่างไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้กลับไปเล่นมาหลายปีแล้ว เลยวาดใหม่ละกัน -___-)

อันนี้เป็นโจ๊กภาพที่จำได้ขึ้นใจมาก เพราะกว่าจะตอบได้ ต้องวิ่งเข้าห้องสมุดไปค้นคว้าเกือบชั่วโมง แถมรางวัลของโจ๊กนี้คือเงิน 100 บาท (555+) คำตอบสำหรับโจ๊กนี้คือ “ทศชาติ” โดยคำที่แปลว่า 10 คือคำว่า ทศ ส่วนสีแดงคือสีชาด ซึ่งเป็นคำพ้องเสียงกับคำว่า “ชาติ” รวมกันคือ “ทศชาติ” คือ 10 ชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าก่อนที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็ในโจ๊กนี้มีคำสั่งต่อว่า “อะไรบ้าง?” ก็คือให้ไปหาข้อมูลมาตอบ (แน่นอน กว่าจะได้ตอบต้องวิ่งไปหาอ่านก่อน เพราะจำไม่ได้หรอก T^T)

ลองดูอีกอันละกัน

โจ๊กนี้ไม่เฉลยละกัน ถ้าตอบได้ก็ comment เอานะ 😀

สำหรับโจ๊กภาพตัวอื่นๆ ถ้ามีโอกาสจะไปถ่ายรูปมาอัพให้ได้ชมกันละกันนะ ตอนนี้ไม่มีโอกาสก็ อดไปก่อน -..-

สำหรับโจ๊กตัวอักษร จะเป็นลักษณะของกลอน ซึ่งคำตอบเองจะมีความสวยงามในตัวของมันมาก โดยชนิดคำตอบของโจ๊กตัวอักษรจะเรียกว่า “ธงโจ๊ก” ซึ่งเป็นตัวที่จัดประเภทของโจ๊กตัวอักษร  (ข้อมูลธงโจ๊ก ก๊อบมาจาก http://www.nmt.or.th/)

          1.  พ้องคำเดี่ยว  เป็นธงโจ๊กที่มีคำเฉลยเป็นคำเดียวพยางค์เดียวเหมือนกันทั้งชุด  มี  3  อย่างด้วยกัน
                 1.1  พ้องพยัญชนะต้น  คำเฉลยเป็นพยัญชนะตัวเดียวกันต่างกันเพราะสระหรือ  ตัวสะกดเท่านั้น  เช่นคำตอบ  4  บรรทัดว่า  กา – กู – เก – แก  เป็นต้น
                 1.2  พ้องสระ  คำเฉลยเป็นพยัญชนะใดก็ได้แต่ต้องเป็นสระเดียวกัน  เช่น  คำตอบ  4  บรรทัดว่า ขา – ผา – ฝา – หา  เป็นต้น
                 1.3  พ้องตัวสะกด  คำเฉลยเป็นตัวสะกดในหลักภาษาไทย  แม่เดียวกันทั้งชุด  เช่น  คำตอบใน  4  บรรทัดว่า  ปา – สาก – กาก – ถาก  เป็นต้น
โจ๊ก ๑๑๗ คำเฉลย
          ใช้ดูดใช้ถ่ายได้ทั้งนั้น

ใช้ดูดหันตะแคงแย่งเดินได้

ใช้นิ่วแหย่หยิกหยอกบอกร่ำไร

ใช้หมดไปนั่นหนาว่าไปเอย

กล้อง

กลิ้ง

แกล้ง

เกลี้ยง

            2.  พ้องคำหน้า  เป็นธงโจ๊กที่มีคำเฉลยที่มีพยางค์เท่ากันทั้งชุดตั้งแต่  2  พยางค์ขึ้นไปและคำหน้าเหมือนกันทุกคำตอบ  เช่น คำตอบใน  4  บรรทัดว่า  ตาแข็ง – ตาแข – ตาเขียว – ตาขาว  เป็นต้น
โจ๊ก ๑๖๖ คำเฉลย
         เป็นดนตรีมีไม้ใช้ประกอบ

เป็นเสาสอบปักเคียงเรียงเป็นแถว

เป็นอำเภอเจออยู่ใต้ให้เป็นแนว

เป็นจังหวัดเล็กแล้วฝนชุกดี

ระนาด

ระเนียด

ระโนด

ระนอง

            3.  พ้องคำหลัง  เป็นธงโจ๊กที่มีคำเฉลยที่มีพยางค์เท่ากันทั้งชุดตั้งแต่  2  พยางค์ขึ้นไปและคำสุดท้ายเหมือนกันทุกคำตอบ  เช่น  คำตอบใน  4  บรรทัดว่า  ในหลวง – ฝนหลวง – ทางหลวง – เงินหลวง  ฯลฯ
โจ๊ก ๒๓๗ คำเฉลย
      ปีใหม่     โชคดี      มีไหว้กินได้

ไม้ผล      คนเห็น

วัดใหญ่         ในกรุง    ชัดเจน

มันเป็น          จังหวัด   บูรพา

ตรุษจีน

ส้มจีน

สามจีน

ปราจีน

            4.  พ้องคำกลาง  เป็นธงเจ๊กที่มีคำเฉลยที่มีพยางค์เท่ากันตั้งแต่  3  พยางค์ขึ้นไป  และคำกลางเหมือนกันทุกคำตอบ  เช่น  เขาสามมุข – งูสามเหลี่ยม – ช้างสามเศียร – ธงสามสี  เป็นต้น
โจ๊ก ๒๖๒ คำเฉลย
      เป็นปักษาร่ำไห้     โหยหวน

เป็นฝนหล่นฟ้าจวน     ท่วมท้น

เป็นมนุษย์จอมกวน     ทำแปลก

เป็นนงคราญมากล้น    ร่ำไห้หลายหน

นกพิราบ

พระพิรุณ

คนพิเรน

พร่ำพิไร

            5.  คำผัน  เป็นธงโจ๊กที่คำเฉลยมีพื้นฐานมาจากคำเดี่ยวเสียงยาว  บังคับด้วยไม้เอกไม้โทไม้ตรีและไม้จัตวา  เช่น  ปา – ป่า – ป้า – ป๊า – ป๋า  เป็นต้น
โจ๊ก ๒๙๔ คำเฉลย
          ใส่จดหมายใหญ่หรือเล็ก

ห้ามแต่เด็กเว้นผู้ใหญ่

เปล่งเสียงอำนวยชัย

พอทายได้รีบทบทวน

ซอง

ซ่อง

ซ้อง

ซอง-ซ่อง-ซ้อง

            6.  คำผวน  เป็นธงโจ๊กที่มีคำเฉลยที่มีจำนวนพยางค์เท่ากันตั้งแต่  2  คำขึ้นไป  ส่วนมากจะกำหนดคำแรกแต่ละบรรทัดไว้ให้มี  3  แบบ
                 6.1  ผวนแนวตั้ง  คือการรวมคำตอบตั้งแต่บรรทัดแรกมาถึงบรรทัดสุดท้ายแล้วผวนคำ
                 6.2  ผวนแนวนอน  คือการผวนคำที่กำหนดให้
                 6.3  ผวนกระทู้  คือเอาคำคมเป็นตัวตั้งแล้วตีความหมายตามคำคมนั้น
โจ๊ก ๓๕๑ คำเฉลย
      จี หนึ่งดาราผู้     เด่นไทย

จี สองคือชื่อไม้        ร่มครึ้ม

จี สามคือสัตว์ใด      ยกกล่าว

จี สี่เราปลาบปลื้ม    เท่าฟ้ารักไทย

จีรุณา – จารุณี

จีจุราม – จามจุรี

จีมราม – จามรี

จีจำเป้า – เจ้าจำปี

            7.  คำสุภาษิต  พังเพย  เป็นธงโจ๊กที่ไม่จำกัดพยางค์ก็ได้เพราะยึดถือ  คำตอบตามสุภาษิต  พังเพยที่เห็นอยู่ในสังคม  เช่น   คำตอบใน  4  บรรทัดเป็น ไกล้-เกลือ-กิน-ด่าง  เป็นต้น
โจ๊ก ๓๕๑ คำเฉลย
     ไม่ห่างอย่างแนบชิด

ก้อนน้อยนิดเค็มนักหนา

รับประทานนานมา

ค่าต่างกรดบทพังเพย

ใกล้

เกลือ

กิน

ด่าง

8.  คำพันหลักแบบลูกโซ่  เป็นธงโจ๊กที่บังคับจำนวนพยางค์ให้เท่ากันทุกบรรทัด  ตั้งแต่  2  คำหรือ  2  พยางค์ขึ้นไป  เอาคำสุดท้ายของคำตอบแรกมาเป็น  คำแรกของคำต่อไปจนครบทุกบรรทัดจะเห็นความเกี่ยวเนื่องกันไปเหมือนลูกโซ่  พ่อขุน – ขุนแผน – แผนที่ – ที่รัก  เป็นต้น
โจ๊ก ๔๕๒ คำเฉลย
      สีขาวรสเปรี้ยวดีเชียวแหละ

เอามาแกะกินเนื้อในลูกใหญ่บ้าง

รสชาติเลอเลิศระเสริฐจัง

อยู่ยังลำคลองและหนองบึง

สารส้ม

ส้มโอ

โอชะ

ชะโด

9.  คำตัดคำต่อ  เป็นธงโจ๊กที่ต้องแก้ปริศนาหลายชั้นมากที่สุดมีหลักเกณฑ์เดียว  คือต้องมีเหตุผลในการให้คำตอบ  เพียงแต่อ่านปริศนาให้เข้าใจก่อนจะดีปัญหาเป็น  รูปธรรมเช่น  คำว่า กวาง – ใส่ไม้โทเป็น – กว้าง, ตัดไม้โทตัด ก.ไก่ เป็น – วาง, ตัด ง. งู อีกทีเป็น – วา  เป็นต้น
โจ๊ก ๔๖๔ คำเฉลย
      ญาติ เอ๋ย ญาติฉัน

จานนั้นใส่ของลองอ่านเขียน

ควบม้าตามมาอย่าวกเวียน

อย่าอาเจียนกลิ่นหึ่งถึงเป็นลม

อา

จ.จาน

ม.ม้า

อาจม (แปลว่า – อุจจาระ)

เวลาตอบโจ๊กตัวอักษรนี่ ถ้าตอบถูก นายโจ๊กจะกดกริ่ง เพื่อบอกว่าถูก ส่วนเวลาตอบผิด นายโจ๊กจะตีกลองตามจำนวนครั้งที่ผิด เช่น ผิด 1 คำตอบ ก็ตีกลอง 1 ที เพราะฉะนั้นเวลาใครตอบแล้วโดนตีกลอง 4 ทีรวดนี่จะฮามาก (ผิดหมดเลย)​ บางทีเวลาตอบแค่ตอบคำตอบแรก ถ้ามันหลุดไปไกลมากก็โดนตีกลองรัวเลย 555

มารยาทเล็กๆน้อยๆสำหรับการทายโจ๊กคือ สมมติว่าเวลาคนอื่นทายโจ๊กอยู่ แล้วคำตอบเกือบจะได้แล้ว ถ้าเราคิดคำตอบออก ก็ไม่ควรไปแย่งตอบ ถ้าแย่งตอบ ภาษาโจ๊กเขาเรียกว่าการทุบโจ๊ก ซึ่งเป็นการผิดมารยาท ยกเว้นว่าคนนั้นจะยอมแพ้แล้วไปทายโจ๊กอื่นก่อน ตอนนี้แหละตอบได้เลย

เขียนเสร็จแล้วอยากกลับไปเล่นมาก ไม่ได้เล่นนานแล้ว สมองตีบตันหมดแล้ว T^T

Posted in: game Tagged: game, Local, Poetry
« Previous 1 2

Categories

Copyright © 2021 Norakaa.com.

Omega WordPress Theme by ThemeHall